ตามรอย 2 ตำนานความศรัทธา หลวงพ่อโสธร หลวงปู่ทวดบูรพา

ตามรอย 2 ตำนานความศรัทธา หลวงพ่อโสธร หลวงปู่ทวดบูรพา (35 สินค้า)

แสดง  30 60 90
  • 1
แสดง  30 60 90
  • 1
พระพุทธโสธร
        พระพุทธโสธรหรือที่โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า หลวงพ่อโสธร ตามประวัติความเป็นมากล่าวว่าประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๓๑๓ มีตำนานแสดงถึงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิที่เล่าขานสืบต่อกันมา ว่าเดิมทีนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคเหนือ ต่อมาบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์ระส่ำระสายจึงได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำลงมา พร้อมกับพี่น้อง ๓ องค์ พระพุทธรูปองค์พี่มีขนาดใหญ่ล่องไปถึงแม่น้ำแม่กลอง ชาวประมงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “หลวงพ่อบ้านแหลม” พระพุทธรูปองค์เล็กล่องเข้าไปที่คลองบางพลี คือหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางนั้นล่องไปทางแม่น้ำบางปะกง เมื่อมาถึงบริเวณ หน้าวัดหงส์ ชาวบ้านจำนวนมากช่วยกันยกฉุดแต่ก็ไม่สามารถนำขึ้นจากน้ำได้ จนมีอาจารย์ผู้หนึ่งได้ทำพิธีบวงสรวง และใช้ด้ายสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์อัญเชิญขึ้นจากน้ำเป็นอันสำเร็จ วัดหงส์นี้กาลภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโสธร และขนานนามพระพุทธรูปศักดิ์สิทธินี้ตามชื่อวัดคือ “หลวงพ่อโสธร”


หลวงปู่ทวด "หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด"

        เรื่องของหลวงพ่อทวดสามารถแยกได้เป็นสองเรื่องราว คือ เรื่องราวตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏนามว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” จากเอกสารท้องถิ่น และเรื่องราวตามตำนานซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” เรื่องสมเด็จเจ้าพะโคะนั้น ปรากฏอยู่ในคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของท้องถิ่นต่างๆ แล้วบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร รวบรวมไว้ใน “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา” ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชูทิศพระราชทานที่ดินไร่นาอันเป็นของ หลวงให้แก่พระสงฆ์แห่งพุทธศาสนา ใช้บำรุงรักษาวัดวาอาราม รวมทั้งผู้คนชายหญิงซึ่งเรียกว่าถวายข้าพระโยมสงฆ์ ให้แก่วัด(ตำราประชุมพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยอยุธยาภาค๑ จัดพิมพ์โดย คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสาร ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๑๐) เขาพะโคะเดิมชื่อ “เขาภีพัชสิง” หรือ “พิเพชรสิง”คำว่า “เขาพะโคะ” สันนิษฐานว่าเป็นเสียงเพี้ยนมาจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่เรียกว่า “พระโคตมะ” บริเวณโดยรอบเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่อดีต เป็นบริเวณที่มีความเจริญรุ่งเรืองจากการทำการค้า ทำให้บ้าน เมืองแถบนี้ถูกโจมตีจากโจรสลัดมลายูบ่อยครั้ง วัดพะโคะกลายเป็นเมืองถูกปล้นและเผาบ้านเมืองครั้งใหญ่ โดยบันทึก ไว้ว่า ราวปลายสมัยสมเด็จพระนเรศวรบ้านเมืองระส่ำระสายไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเจ้าอาวาสวัดพะโคะซึ่งเคยอยู่ที่ กรุงศรีอยุธยาและน่าจะเป็นพระสงฆ์ผู้มีบารมีพอสมควรในฐานะพระผู้ใหญ่ จึงขอพระราชทานการบูรณะวัดครั้งสำคัญ ในสมัยของพระเอกาทศรถ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๓ พระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยาโดยพระราชทานพระบรมราชูทิศกัลปนา วัดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบสงขลาที่หัวเขาแดงจนถึงเขาพังไกร ทั้งหมดราว ๖๓ วัด ขึ้นกับวัด หลังจากนั้นอีกราว สิบกว่าปีต่อมา โจรสลัดจากปลายแหลมมลายูก็เข้าปล้นบ้านเมืองอีกครั้ง ต่อจากนั้นก็ไม่ปรากฏเรื่องสมเด็จเจ้าพะโคะ ในเอกสารอื่นใดอีกเลย อย่างไรก็ตาม วัดพะโคะ มีการบูรณะขึ้นใหม่และมีชื่อแบบเมืองหลวงว่า วัดราชประดิษฐาน อีกทั้งมีการขอกัลปนาไร่นาข้าพระขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง พบเอกสารที่ถูกรวบรวมไว้ที่หอสมุดวชิรญาณอีกเช่นกัน คือ แผนที่ภาพกัลปนาวัดพะโคะ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีขนาดยาวมาก นับรวมได้ถึง ๓๘ คู่ แผนที่ฉบับนี้เขียน ขึ้นภายหลัง พ.ศ. ๒๒๒๓ แต่ก่อน พ.ศ. ๒๒๔๒ เขียนขึ้นหลังจากปราบขบถเมืองสงขลาได้แล้ว และเจตนาในการเขียน ก็เพื่อบอกเขตหัวเมืองพัทลุงฝ่ายตะวันออก ซึ่งตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งทำให้เห็นความหนาแน่น ของวัดวาอาราม อันแสดงถึงความมั่นคงทางศาสนาและชุมชนที่เป็นอิสระจากรัฐท้องถิ่นและส่วนกลางมากพอที่จะมีอิสระ ในการทะนุบำรุงชุมชนหมู่บ้านและวัดของพวกตนให้รุ่งเรือง ดังภาพจิตรกรรมเพื่อการกัลปนานั้นแสดงไว้ การกัลปนาที่ดิน และข้าพระโยมสงฆ์นั้น น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญของการปกครองบ้านเมืองในขณะนั้น ยามที่บ้านเมืองระส่ำระสาย อำนาจบารมีของพระมหากษัตริย์ไม่สามารถแผ่ลงไปทั่วแผ่นดินได้ การอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องค้ำจุนความ มั่นคงย่อมเป็นไปได้ง่ายกว่า ด้วยความใกล้ชิดระหว่างพระศาสนากับบรรดาผู้คนในท้องถิ่น การยกศาสนสถานเป็น ศูนย์รวมจิตใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ทำให้สร้างความสามัคคีได้ไม่ยากลำบากนัก สมเด็จเจ้าพะโคะกลายเป็น ผู้นำทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้ความเคารพนับถือ กลายเป็นผู้นำท้องถิ่นที่มีบทบาทอำนาจเหนือ บรรดาขุนนาง อำมาตย์ และวัดพะโคะกลายเป็นปราการสำคัญที่คอยต้านอำนาจของศาสนาอิสลาม และป้องกัน การโจมตีของโจรสลัดซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้ราชอาณาจักร ในอีกแง่มุมหนึ่งตาม ตำนานของหลวงพ่อทวดที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่นแถบสทิงพระ ชีวประวัติที่เต็มไปด้วยอภินิหาร เล่ากันว่า “หลวงพ่อทวด” เกิดในราว พ.ศ. ๒๑๒๕ ณ บ้านสวนจันทร์ เมืองสทิงพระ มีชื่อว่า “ปู่” หรือ “ปู” บิดาคือ ตาหู มารดาคือ นางจันทร์ ปลูกบ้านอาศัยที่ดินเศรษฐีผู้หนึ่งไว้ชื่อ ปาน ตาหูและนางจันทร์เป็นคนในอุปภัมถ์ของเศรษฐีปาน ระหว่างที่พ่อแม่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่ได้ผูกเปลให้ลูกนอน นางจันทร์ก็เห็น “งูใหญ่” มาพันที่เปลลูกแล้วชูคอแผ่แม่เบี้ย นายหูและนางจันทร์พนมมือบอกเจ้าที่เจ้าทาง ขออย่าให้ลูกน้อยได้รับอันตราย ด้วยอำนาจบารมีของเด็กน้อย งูใหญ่จึง คลายลำตัวออกจากเปลเลื้อยหายไป ปรากฏว่าเด็กชายปู่ยังคงนอนหลับสบายเป็นปกติ และมีลูกแก้วกลมส่องเป็น ประกายอยู่ข้างตัว ตาหูนางจันทร์มีความเชื่อว่า เทวดาแปลงกายเป็นงูใหญ่นำดวงแก้ววิเศษมามอบให้กับลูกของตน นับแต่นั้นมาฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กชายปู่เติบโตได้ไปศึกษาวิชาความรู้กับสมภารจวง และไปอุปสมบทที่สำนักพระครูกาเดิม วันหนึ่งในขณะที่เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาโดยเรือสำเภา ท้องทะเลฟ้าวิปริต เกิดพายุ ทอดสมออยู่หลายวันจนน้ำจืดหมด เจ้าของเรือจึงไล่พระภิกษุปู่ลงเรือเล็กส่งฝั่งหมาย ระหว่างที่ภิกษุปู่นั่ง ในเรือเล็กได้หย่อนเท้าลงในน้ำทะเลและบอกให้ตักชิมดู ปรากฏเป็นน้ำจืดอย่างน่าอัศจรรย์ ภิกษุปู่ได้เดินทางออกธุดงค์ ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จนมาถึงวัดพะโคะที่มีความทรุดโทรมมาก จึงได้เดินทางไป กรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชทานพระกัลปนา นายช่างหลวงจึงบรรทุกศิลาแลงลงเรือสำเภามาบูรณะซ่อมแซมวัดพะโคะ และได้รับพระราชทานที่ดินนาถวายเป็นกัลปนาขึ้นแก่วัดพัทสิงห์บรรพตพะโคะ ในตำนานกล่าวว่าท่านหายไปจากวัดพะโคะ ส่วนอีกตำนานหนึ่งซึ่งชาวพุทธในจังหวัดปัตตานีเชื่อว่าหลวงปู่ทวดคือพระรูปเดียวกับตำนานพระสงฆ์ที่เดินทางจาริก แสวงบุญเผยแผ่ศาสนาแถบอำเภอหนองจิกไปจนถึงไทรบุรี คนทั่วไปเรียกว่า ท่านลังกา จนเมื่อมรณภาพที่เมืองไทรบุรี เส้นทางที่นำศพท่านกลับมาที่วัดช้างให้ ชาวบ้านยังจดจำระลึกถึงสถานที่ต่างๆ ที่ท่านลังกาเดินทางผ่าน และต่อมาในราว พ.ศ. ๒๔๙๗ ทางวัดช้างให้จัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดเป็นวัตถุมงคลจนมีชื่อเสียง โดยเขียนตำนานท่านลังกาองค์ดำ คือหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดองค์เดียวกับสมเด็จเจ้าพะโคะที่วัดพะโคะ จึงกลายเป็นที่รู้จักว่าในนาม “หลวงปู่ทวด วัดช้างให้”และผู้คนก็ลืมเลือนหรือไม่รู้จักสมเด็จเจ้าพะโคะในตำนานท้องถิ่นของชาวสทิงพระคาบสมุทรสงขลาไป การผนวกกันระหว่างบันทึกทางประวัติศาสตร์กับตำนาน ทำให้เรื่องของหลวงพ่อทวดยังเป็นที่เล่าต่อมาจนปัจจุบัน สถานที่ที่ปรากฏในตำนานและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทวดถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่น ต้นเลียบขนาดใหญ่ที่ เชื่อกันว่าฝังรกของหลวงปู่ทวดไว้ ที่ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ถือเป็นตัวแทนของหลวงปู่ทวด มีการสร้างศาลา ตาหู-ยายจันทร์ โยมบิดามารดาของหลวงปู่ทวดไว้ในบริเวณใกล้เคียงกัน สถูปสมภารจวง พระอาจารย์องค์แรกของ หลวงปู่ทวดที่วัดดีหลวง เป็นต้นสถานที่เหล่านี้ทำให้ตำนานของหลวงพ่อทวดยังคงโลดแล่นในความทรงจำ เรื่องราว เหล่านี้ทำให้สถานะของสมเด็จเจ้าพะโคะ หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด นอกจากจะเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้มีคุณูปการ ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นผู้มีบทบาทนำในการปกป้องประชาชนจากการปล้นของโจรสลัดมลายูแล้ว ยังเป็น ผู้นำทางวัฒนธรรมที่ส่งผ่านมาสู่ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่น มีสิ่งยึดเหนี่ยวร่วมกัน ที่ทำให้ท้องถิ่นมีความ เป็นหนึ่งเดียว ดังเห็นได้จากครั้งเมื่อน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ใน พ.ศ. ๒๕๕๓ ผู้คนบริเวณใกล้เคียงต่างพากันละทิ้งบ้านเรือน ขึ้นไปวัดพะโคะ บ้างร้องไห้ บ้างโศกเศร้า กราบไหว้ขอให้บารมีของสมเด็จเจ้าพะโคะคุ้มครองท่ามกลางความสิ้นหวัง เรื่องของหลวงพ่อทวดนี้ยังคงเกิดเรื่องราวใหม่ๆ ตามแต่ที่ผู้คนได้ประสบพบเจอตามความเชื่อของตน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่จะต้องไปตามพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่เพียงใด แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่หลวงพ่อทวดยังเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน เมื่อเขา เหล่านั้นได้รับความทุกข์ยากและไม่ได้รับการเยียวยาจากใคร หลวงพ่อทวดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงให้คนในท้องถิ่นมี ความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะตั้งรับแรงปะทะใหม่ๆ จากภายนอกในอนาคตได้อย่างมีสติ และไม่หลงทางไปกับการ เปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว