พระบูชา เสริมสิริมงคล ประจำบ้าน

พระบูชา เสริมสิริมงคล ประจำบ้าน (67 สินค้า)

แสดง  30 60 90
  • 1
แสดง  30 60 90
  • 1

ของบูชาพระที่บ้าน

ธูป 3 ดอก หมายถึง การบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ 

เทียน 2 เล่ม หมายถึง พระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 

ดอกไม้หรือพวงมาลัย หมายถึง การสักการะพระสงฆ์ 

น้ำเปล่า หมายถึง การระลึกถึงน้ำพระทัยของพระพุทธเจ้า

ผลไม้ และขนมหวาน (จะถวายหรือไม่ก็ได้)

บทสวดบูชาพระในบ้าน

ก่อนเริ่มสวดมนต์ควรทำจิตใจให้สงบนิ่ง ตั้งสมาธิ พร้อมกล่าวคาถาบูชาพระในบ้าน โดยเริ่มจากการตั้งนะโม 3 จบ ดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

1. คําบูชาพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมังนะมัสสามิ

สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ

พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน (กราบ)

พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม (กราบ)

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์ (กราบ)

2. คำถวายดอกไม้ธูปเทียน

อิมานิ มะยัง ภันเต ทีปะธูปะปุปผะวะรานิ ระตะนัตตะยัสเสวะ

อะภิปูเชมะ อัมหากง ระตะนัตตะยัสสะ ปูชา ทีฆะรัตตัง หิตะสุขาวะหา

โหตุ อาสะวักขะยัปปัตติยา

อะหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ อิเมหิ สักกาเรหิ สักกัจจัง อะภิปูชะยามิ 

ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอบูชาธูปเทียน

และดอกไม้อันประเสริฐเหล่านี้ แก่พระรัตนตรัย กิริยาที่บูชาแก่พระรัตนตรัยนี้

จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน

จงเป็นไปเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส เทอญ ฯ

3. บทแผ่เมตตาแก่ตนเอง

"อะหัง สุขิโต โหมิ"  

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข

"อะหัง นิททุกโข โหมิ"

ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์

"อะหัง อะเวโร โหมิ"

ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร

"อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ" 

ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง

"อะหัง อะนีโฆ โหมิ"

ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์กายทุกข์ใจ 

"อะหัง สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ" 

ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พ้นจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด

4. บทแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์

"สัพเพ สัตตา"

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น

"อะเวรา โหนตุ" 

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย

"อัพพะยาปัชฌา โหนตุ" 

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

"อะนีฆา โหนตุ"

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย

"สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ"

จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ

5. บทแผ่ส่วนกุศล

"อิทัง เม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่มารดา บิดาของข้าพเจ้า ขอให้มารดา บิดาของข้าพเจ้ามีความสุข

"อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้ามีความสุข

"อิทัง เม คุรูปัชฌายาจริยานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ คุรูปัชฌายาจริยา"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของข้าพเจ้ามีความสุข

"อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเทวา"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข

"อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข

"อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพเวรี"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข

"อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา"

ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุขทั่วหน้ากันเทอญ

6. คําสวดลาของไหว้

ตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคำบูชาว่า

เสสัง มังคะลายาจานิ

ลูกขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล เพื่อยังประโยชน์เพื่อความสุขความเจริญแก่ลูกด้วยเถิด
 

การไหว้พระที่บ้าน สามารถทำได้ทุกวัน ไม่จำเป็นจะต้องทำเฉพาะวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น ที่สำคัญการท่องบทสวดมนต์ไหว้พระ

ยังเป็นการช่วยให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสมาธิมากขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็อย่าลืมนำคาถาบูชาพระในบ้านที่นำมาฝากในวันนี้ไปไหว้พระกันนะครับ

ตามหลักการจัดโต๊ะหมู่บูชา ห้องพระ ที่ใช้ในพิธีต่างๆ นั้นจะประกอบไปด้วย พระพุทธรูป พานพุ่มดอกไม้ แจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป แต่หากเป็นโต๊ะหมู่บูชาในบ้าน องค์ประกอบอื่นๆ จะเปลี่ยนไป บางบ้านอาจจะมีพระบูชามากกว่า 1 องค์ ทั้งพุทธรูป พระประจำวันเกิด พระอริยะสงฆ์ พระเกจิอาจารย์ พระเครื่อง รวมถึงสัตว์บูชาตามความเชื่ออย่างองค์พญานาค ครุฑ เป็นต้น ซึ่งการจัดวางตามลำดับนั้นสามารถทำได้ดังนี้

1 พระพุทธรูป
พระประธานที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุดต้องเป็นพระพุทธรูป นั่นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ที่นิยมบูชานั้น ได้แก่ พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อโต หลวงพ่อทอง หลวงพ่อวัดบ้านแหลม เป็นต้น การจัดวางนั้นต้องลำดับตามบารมีขององค์พระ และระวังด้วยว่าอย่าให้พระองค์อื่นในตำแหน่งต่ำกว่าหรือช่อดอกไม้บูชาอยู่ในระดับความสูงเกินกว่าองค์พระประธานของโต๊ะหมู่บูชา



2 พระอรหันต์
ในกรณีที่บ้านบูชาองค์พระอรหันต์ โต๊ะหมู่บูชาให้วางในตำแหน่งรองลงมาจากพระพุทธรูป ส่วนใหญ่พระอรหันต์ที่นิยมบูชาในบ้านได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสิวลี พระสังกัจจายน์ พระบัวเข็มหรือพระอุปคุต เป็นต้น



3 พระอริยสงฆ์
ลำดับรองลงมาคือพระอริยสงฆ์ ที่นิยมบูชาในบ้านเรือน โต๊ะหมู่บูชา หิ้งพระ ได้แก่ หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต ซึ่งหากมีองค์พระพระอริยสงฆ์บูชาในบ้าน การจัดลำดับตามสมณะให้พิจารณาจากการละกายสังขาร แล้วลำดับตามความอาวุโส วางในฝั่งซ้ายขององค์พระพุทธองค์ ไล่มาฝั่งขวาตามลำดับ



4 รูปเหมือนสมมติสงฆ์
หรือพระเกจิอาจารย์ นอกจากนี้ในบางบ้าน ห้องพระ โต๊ะหมู่บูชา ยังบูชาพระสมมติสงฆ์ตามศรัทธาส่วนบุคคล อาทิเช่น หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ หลวงปู่ผาด หลวงปู่ถ้า หลวงปู่อ่อง รวมถึงหลวงปู่ต่างๆ ที่คนไทยผูกพันมาเนิ่นนาน




5 พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย
ลำดับต่อมาคือรูปเคารพ รูปปั้น ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย อาทิ พ่อขุนรามคำแหง พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าตากสินมหาราช และพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่9 พระยาลิไท เสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เหรียญทรงยินดี เหรียญทรงผนวช พระกำลังแผ่นดิน สามารถบูชาที่โต๊ะหมู่บูชาได้เช่นกัน



6 เทพฮินดู
โต๊ะหมู่บูชา ให้เรียงตามลำดับเช่นเดียวกัน คือ พระศิวะ เจ้าแม่อุมา เจ้าแม่กาลี พระนารายณ์ พระลักษมี พระพรหม พระสุรัสวดี พระพิฆเนศ พระอินทร์ ท้าวเวสสุวรรณ และฤาษี 




7 พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ
หากที่บ้านบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ ให้พิจารณาดูว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ใด หากเป็นของพระบรมสารีริกธาตุองค์พระพุทธเจ้าให้วางในตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป แต่หากเป็นพระธาตุของพระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ ให้วางรองลงมาเรียงตามลำดับ โต๊ะหมู่บูชา เช่นกัน

8 อัฐิ รูปบูชาของบรรพบุรุษ
หากจำเป็นต้องอยู่บนหิ้งเดียว โต๊ะหมู่บูชา เดียวกันกับองค์พระบูชาให้วางในตำแหน่งต่ำกว่าองค์พระ แต่หากมีพื้นที่สามารถแยกบูชาต่างหากได้

9 สิ่งปลุกเสกอื่นๆ
แม้ว่าตามหลักพระพุทธศาสนาจะไม่ระบุให้มีสิ่งบูชาอื่นใด แต่ก็มีความเชื่อส่วนบุคคลที่นับถือบูชาสิ่งปลุกเสก ของขลัง เพื่อปกป้องให้ปลอดภัย ในกรณีที่บ้านบูชามีสิ่งปลุกเสกตามความเชื่อและศรัทธา อาทิ กุมารทอง รักยม นกคุ้ม วัวธนู ควายธนู เจ้าทองเรียกทรัพย์ แพะแกะ โคโน่ ตาไข่วัดเจดีย์ เสือแกะสามารถวางบูชารวมในหิ้งพระได้แต่ต้องจัดวางในพานบูชาให้เรียบร้อย แต่หากสามารถแยกหิ้งบูชา แยก โต๊ะหมู่บูชาได้จะดีกว่า



สิ่งสำคัญในการจัดวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รักษาความสะอาดห้องพระ อย่าให้มีฝุ่นหรือยักไย่เกาะไม่ว่าจะเป็น หิ้งพระ หรือ โต๊ะหมู่บูชา และห้ามลืมบูชาพระเป็นอันขาด การบูชาพระแบ่งเป็น 2 ด้วยกันคืออามิสบูชา เป็นการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และการปฏิบัติบูชา หรือการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือ การให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวะนา หากปฏิบัติบูชาทั้งสองแบบแล้วจะเสริมบารมีให้เจ้าของบ้านเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป

ข้อควรปฏิบัติในการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระ

  1. โต๊ะหมู่บูชาพระควรอยู่ในห้องชั้นบนสุดของบ้าน
  2. หากไม่มีชุดโต๊ะหมู่บูชาพระอย่างในข้างต้น ก็สามารถใช้โต๊ะหรือตั่งที่มีลักษณะและขนาดที่เหมาะสมแทนได้
  3. ควรจัดเครื่องสักการะบูชาให้ครบองค์ประกอบ โดยใช้วัสดุอย่างดี เช่น เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง เครื่องโลหะ รวมทั้งจัดให้เป็นระเบียบ สะอาด และสวยงาม
  4. ต้องมีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และบูชาที่ตำแหน่งสูงสุดของโต๊ะหมู่บูชาพระ
  5. ควรจัดลำดับองค์พระอื่น ๆ ตามลำดับบารมี คือ องค์พระอรหันต์ เช่น พระสารีบุตร พระอานนท์ พระสิวลี ควรอยู่สูงกว่าองค์พระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต หากบูชาพระอริยสงฆ์หลายองค์ ควรจัดลำดับตามความอาวุโส ทั้งนี้ ให้วางองค์พระลำดับจากซ้ายมายังขวาของพระประธาน
  6. หากบูชาพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ควรจัดพระบรมสารีริกธาตุให้อยู่ถัดจากหรืออยู่ตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป สำหรับพระธาตุนั้น ให้จัดตามลำดับบารมีเช่นกัน โดยบูชาถัดจากหรืออยู่ตำแหน่งรองจากองค์พระของพระธาตุนั้น เช่น วางพระธาตุพระสิวลีไว้ถัดจากองค์พระสิวลี
  7. ห้ามวางพานดอกไม้ พานพุ่ม เชิงเทียน และกระถางธูปสูงกว่าองค์พระ
  8. หากบ้านเป็นคอนโดหรืออพาร์ทเมนต์ ควรทำฉากหรือผ้าม่านกั้นมุมโต๊ะหมู่บูชาพระให้เป็นสัดส่วน

เคล็ดลับที่ในการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระเพื่อเสริมมงคล

  1. ตำแหน่งของโต๊ะหมู่บูชาพระควรอยู่ทางทิศเหนือหรือตะวันออกของบ้านและหันหน้าออกหน้าบ้าน ไม่ควรอยู่ที่ตำแหน่งทิศตะวันตก
  2. พระประทานควรเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าบ้าน หรือจะตั้งพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นพระประทาน และตั้งพระประจำวันเกิดเป็นลำดับรองลงมาก็ได้
  3. ไม่ควรวางโต๊ะหมู่บูชาพระหันไปตรงกับประตู
  4. ห้ามวางเตียงโดยหันปลายเตียงไปทางห้องพระ
  5. ห้ามจัดห้องพระติดกับห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองรั่วไหลได้ หากจำเป็น ให้หาตู้มาพิงผนังห้องน้ำ และจัดโต๊ะหมู่บูชาพระให้หันหน้าไปทางอื่น
  6. ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระในตำแหน่งทิศมนตรีของเจ้าบ้าน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีพลังเกื้อหนุนได้เต็มที่
  7. ไม่ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระที่ทิศกาลีของเจ้าบ้าน เพราะทิศนี้เป็นทิศเสื่อมของเจ้าบ้าน