วงการพระเครื่องได้มีพัฒนาการการออกแบบพระมาโดยลำดับแต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วจะเห็นว่าซ้ำซากจำเจขาดซึ่งวิวัฒนาการการออกแบบดีไซน์ เราจึงเห็นแบบพระเดิมๆเหมือนๆกันลอกกันไปลอกกันซึ่งไม่ผิดแปลกอะไร เพราะว่าวงการพระขาดจินตนาการและในความเป็นจริงคือโรงงานและช่างมักเป็นผู้ออกแบบให้ผู้สร้างพระ ไม่ใช่มีศิลปินหรือช่างศิลป์มาออกแบบพระเครื่องเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งบางทีผู้ออกแบบอาจขาดความรู้ด้านการผลิตเพราะไม่เข้าใจความเป็นพระเครื่องทำให้งานที่ได้ไม่งามตามต้องการ การออกแบบพระจึงต้องมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาประกอบ จึงจะเป็นงานที่สมบูรณ์แบบ
ท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติแต่มีผลงานระดับโลก เป็นผู้จุดประกายความคิดและสร้างนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบพระเครื่องที่ใช้แนวคิดสร้างสรรค์ด้วยงานศิลปะอย่างแท้จริงทำให้เกิดพัฒนาการสำคัญและมีคุณูปการยิ่งต่อวงการพระเครื่องและวงการศิลปะ ทะลุไปอีกระดับขั้นของกรอบแนวคิด ทำให้ผู้ซื้อพระนักสะสมมีทางเลือกใหม่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญของคุณค่าด้านศิลปะมากขึ้นซึ่งเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้และที่สำคัญเป็นสากลไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
ความขลังความศักดิ์สิทธิเป็นนามธรรมที่วัดยากขึ้นกับความเชื่อของบุคคลซึ่งไม่สากล สำหรับวงการพระหลวงปู่ทวดจะเห็นได้ว่าพระเครื่องที่ออกมามักจะวนเวียนซ้ำซากกับรูปแบบเดิมๆไม่มีแนวคิดหรือจินตนาการใหม่ๆออกมา
ครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญและจะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่เราจะได้เห็นผลงานการออกแบบจากแนวคิดและคำแนะนำของศิลปินอันดับหนึ่งของประเทศในยุคปัจจุบันที่ท่านเล็งเห็นคุณค่าของงานศิลปะพระเครื่อง ทำให้พระเครื่องมีความงดงามมีคุณค่า ท่านสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคนรวมถึงผม ครั้งนี้นับเป็นเกียรติประวัติที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตที่ได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งเป็นการยากที่จะคิดได้เพราะกรณีนี้ เงินใช้ไม่ได้อะไรก็ใช้ไม่ได้นอกจากความตั้งมั่นแห่งจิต อุดมการณ์และเจตจำนงค์ ปณิธานที่มุ่งมั่นเพื่อฝากไว้บนแผ่นดิน ขอกราบเท้าคารวะ บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัย ผู้มีนามว่า เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้รังสรรค์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกทางด้านศิลปะในศตวรรษที่ 21
วัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์(อุ๊ กรุงสยาม)
9/4/57
พุทธอุทยานมหาราชอยุธยา