คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วิชาการแพทย์ไทยแต่เดิมพัฒนาจากการใช้ยาสมุนไพรและรับการรักษาจากหมอยาตำราหลวงตามแบบแผนอย่างไทย ต่อมาเมื่อมีคณะมิชชันนารีจากต่างประเทศเข้ามาเผยแผ่ศาสนาพร้อมกับวิทยาการทางการแพทย์แผนตะวันตกในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เกิดรูปแบบการรักษาพยาบาลแบบใหม่ขึ้นในประเทศ ไม่นานในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น เพื่อจัดระเบียบและยกระดับมาตรฐานการแพทย์และการสาธารณสุขในประเทศให้สมกับความรุ่งเรืองของประเทศ พระองค์ทรงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ท่าน คือ
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิริธัชสังกาศ เป็นนายก
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
- พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
- พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์
- พระยาโชฏึกราชเศรษฐี
- เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี
- ดร.ปีเตอร์ เคาแวน แพทย์ประจำพระองค์
เป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศ คณะกรรมการได้กราบทูลขอแบ่งพื้นที่พระราชวังบวรสถานพิมุขด้านใต้อันเป็นพื้นที่หลวงร้างฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงพยาบาลและซื้อที่ริมข้างเหนือโรงเรียนของคณะมิชชันนารีอเมริกันเพื่อทำท่าขึ้นโรงพยาบาล และตั้งชื่อว่า “โรงพยาบาลวังหลัง”

ในปี พ.ศ. 2430 ขณะกำลังก่อสร้างโรงพยาบาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิด สร้างความโศกเศร้าพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เป็นอย่างมาก จึงมีพระราชประสงค์พระราชทานโรงพยาบาลเพื่อเป็นพระราชกุศล เมื่อเสร็จสิ้นงานพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้พระราชทานไม้ที่ใช้สร้างพระเมรุมาศจำนวน 15 หลังมาเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของเจ้าฟ้าศิริราชฯ จำนวน 700 ชั่ง (56,000 บาท) เป็นค่าก่อสร้างอีกด้วย ตามพระราชปรารภของพระองค์ในพระราชหัตถเลขาถึงคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ลงวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิ์ศก จุลศักราช 1250 ใจความตอนหนึ่งว่า
ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้าย ลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาเจ็บไข้ เห็นแต่ว่าลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกขเวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความลำบากทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ภายหลังกรมหมื่นดำรงราชนุภาพคิดการที่จะตั้งโรงพยาบาล ทำความเห็นมายื่น เห็นว่าเป็นทางที่จะจัดการตลอดได้ จึงได้ตั้งท่านทั้งหลายเป็นคอมมิตตีจัดการ แลได้ปรึกษากับแม่เล็กเสาวภาผ่องศรี มีความชื่นชมในการที่จะสงเคราะห์แก่คนที่ได้ความลำบากด้วยป่วยไข้นี้ด้วย ยอมยกทรัพย์สมบัติของลูกที่ตายให้เป็นส่วนในการทำโรงพยาบาลนี้ เป็นต้นทุน
ด้วยโรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่ประชาชนจากทุกสารทิศได้เดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลการเจ็บไข้ได้ป่วยมากจนสถานที่แออัดไม่สามารถบริการให้ประชาชนได้ทั่วถึง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการจัดสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช
ซึ่งในการสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชนั้นต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก เพราะค่าก่อสร้างรวมถึง อุปกรณ์ที่จะใช้ในการวิจัยทางการแพทย์นั้นมีราคาสูง ลำพังการสนับสนุนจากรัฐบาล และการเก็บรายได้จากผู้เข้ามารับบริการของโรงพยาบาลศิริราชคงไม่เพียงพอ และที่สำคัญปี 2554 ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการฯมานั้น เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชขึ้น
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติด้วยมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดทำโครงการสมทบทุนกองทุนเพื่อสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางการแพทย์ไปสู่ชนบท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. ให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมสืบสานพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใย สุขภาพและพลานามัยของประชาชนชาวไทย ด้วยการร่วมทำบุญมหากุศล
2. สมทบทุนกองทุนเพื่อสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช ผ่านศิริราชมูลนิธิ
3. มอบเป็นกองทุนสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชในพระบรมราชูปถัมภ์ ผ่านศิริราชมูลนิธิ
4. เพิ่มศักยภาพให้กับแพทย์อยู่ในชนบททั่วประเทศ
และทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างพระ “สมเด็จศิริราชร้อยปี” เพิ่มเติมจากที่เคยจัดสร้างเป็นพระคะแนนและพระเนื้อผงมาแล้วเมื่อปี 2531 โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประดิษฐานไว้ด้านหลังองค์พระ รวมถึงพระราชทานผงจิตรลดา มาเป็นมวลสารด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่ เป็นมงคลอย่างยิ่ง และในปี 2553 ที่ได้จัดสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่นี้ เป็นพระพุทธรูปบูชา และเหรียญทองแดงรมดำ
นอกจากนั้นยังมีพระชุด “เบ็ญจภาคีมหามงคล” พระยอดขุนพลเนื้อชิน ซึ่งเป็นพระที่ควรคู่เก็บสะสมไว้บูชา โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ได้พระเมตตาถวายพระนามให้ พร้อมทั้งประทานอนุญาตให้นำนามของเจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวฯ ประทับด้านบนของกล่องบรรจุ รวมถึงประทานอนุญาตนำพระพุทธคุณลายนามเจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวฯ อ.อุ.ม. ประทับด้านหลังพระยอดขุนพลเนื้อชินทั้ง 5 องค์ นับว่าเป็นมหามงคลอย่างสูงยิ่งที่ยากจะหาโอกาสเช่นนี้ได้อีกแล้ว พระชุดนี้ได้มีการทำพิธีขออนุญาตจากวัดกรุต้นกำเนิดทั้ง 5 วัด เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาในการดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2554 ซึ่งทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชฯ จะได้มอบเป็นที่ระลึกมอบให้ผู้ที่ร่วมสมทบทุนกับโครงการฯในครั้งนี้