ภาคใต้

วัดบัวขวัญ นนทบุรี

วัดบัวขวัญเดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ แต่ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มาจำพรรษาและปฏิบัติสังฆกรรมมากขึ้น จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นวัดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2435 มีนามว่า "วัดสะแก" โดยมีพระครูปรีชาเฉลิมจากวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารเป็นผู้เริ่มสร้างวัด และเป็นเจ้าอาวาสในช่วงแรก

พ.ศ. 2491 พระอธิการพยุง จัตตมโล จากวัดกำแพง ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้มาเป็นเจ้าอาวาส เนื่องจากการมรณภาพของอดีตเจ้าอาวาส จากนั้นจึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา กระทั่งมีผู้มีจิตศรัทธานามว่า นายบัว ฉุนเฉียว บริจาคที่ดินให้กับวัด ซึ่งในเวลาต่อมาจึงได้เปลี่ยนนามมาเป็น วัดบัวขวัญ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้บริจาคที่ดิน และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 โดยมีพระอธิการพยุง จัตตมโล เป็นเจ้าอาวาสถึงปี พ.ศ. 2520 และพระอธิการบุญช่วย ปุญญคุตโต ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสถึงปี พ.ศ. 2535



พระมหาไสว สุขวโร (ป.ธ.4) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบางแพรกเหนือ ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระโสภณสุตาลังการ" ถึงปัจจุบัน และได้พัฒนาวัดบัวขวัญทั้งในด้านถาวรวัตถุ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ตลอดทั้งให้ความสำคัญด้านการศึกษาพระธรรม กระทั่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดนนทบุรี แห่งที่ 1 และยังเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับอุบาสกอุบาสิกาในทุกวันสำคัญ และให้ความสำคัญทางการศึกษาโดยเปิดเป็นสถานที่เรียน ก.ศ.น. อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนและประชาชนทั่วไปเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาและวันนักขัตฤกษ์เรื่อยมา

พระอุโบสถจตุรมุขของวัดบัวขวัญฯ ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 โดยมี พระพุทธเมตตา (จำลองมาจากพระพุทธเมตตาที่ประดิษฐานในเจดีย์พุทธคยา ประเทศอินเดีย) เป็นพระประธานในพระอุโบสถ

วัดบัวขวัญได้รับการพระราชทานพระบรมราชานุญาตสถาปนาเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

วัดพระธาตุวาโย

วัดห้วยน้ำทรัพย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "วัดพระธาตุวาโย" เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในเขตอำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา แวะชมพระมหาเจดีย์ พระธาตุวาโย ที่มีรูปแบบเจดีย์ 3 สีไม่เหมือนที่ไหน งดงามแปลกตาราวกับช้างเผือกในป่าใหญ่ ภายในมีลวดลายวิจิตรสวยงาม กราบสักการะพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ และขึ้นไปยังชั้นบนขององค์เจดีย์เพื่อชมวิวทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง
วัดห้วยน้ำทรัพย์ ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ในอำเภอสนามชัยเขต หากเดินทางจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา ใช้เส้นทางเข้าสู่อำเภอท่าตะเกียบ (ทางที่จะเข้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน (3259) วัดพระธาตุวาโย จะถึงก่อน
วัดห้วยน้ำทรัพย์ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ หลังจากนั้นมีคุณแม่สุจิตรา พานทอง และคณะศิษย์ ร่วมสนับสนุนให้สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2528 โดยเกิดจากนิมิตรของคุณแม่สุจิตรา เกี่ยวกับเรื่องเมืองวาโยนคร ว่าในสมัยหลังพุทธกาลสองร้อยกว่าปี ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ถูกขนานนามว่า "วาโยนคร" มีท้าวแสนชัยเป็นเจ้าเมือง ที่นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ดินแดนแห่งนี้ แต่ด้วยภัยธรรมชาติและโรคระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ดินแดนแห่งนี้สาบสูญไป
วัดห้วยน้ำทรัพย์ เป็นวัดที่มีพื้นที่กว้างไปจรดบริเวณอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง โดยรอบมีต้นไม้ร่มรื่น กลางวัดมีถนนตัดผ่าน จึงแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างให้ชม บางจุดอยู่ในระยะไกลกัน ต้องขับรถไปชม ส่วนที่โดดเด่นที่สุดภายในวัด คือ พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย
หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย เป็นพระพุทธรูปปางชนะมาร หรือมารวิชัย ประวัติดั้งเดิมไม่ปรากฎแน่ชัด แต่เมื่อครั้นเริ่มก่อสร้างวัดห้วยน้ำทรัพย์ พระธาตุวาโย เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลวงพ่อปลดหนี้นี้ก็ได้ปรากฎมาแต่เดิมก่อนแล้ว ซึ่งพุทธคุณของหลวงพ่อปลดหนี้ มีดังนี้
- ปลดหนี้สิน
- ทำมาหากินคล่องตัว
- ทำมาค้าขึ้น



พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย

พระมหาเจดีย์พระธาตุวาโย เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำขนาดใหญ่ สูง 39 เมตร ฐานเจดีย์มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 20 เมตร เนื้อที่ภายในองค์เจดีย์มีประมาณ 400 ตารางวา (1 ไร่) ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านบาท เริ่มวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2532 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2536

ภายนอกของเจดีย์พระธาตุวาโย เป็นเจดีย์ที่มีรูปลักษณะคล้ายเจดีย์ทรงระฆัง แต่แตกต่างจากเจดีย์ทั่วไปคือ มีองค์ระฆังซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยสีกระเบื้องต่างกันออกไป 3 สี ทำให้ดูโดดเด่น องค์ระฆังชั้นล่างประดับด้วยกระเบื้องสีเหลืองทอง องค์กลางมีขนาดเล็กลง ประดับด้วยกระเบื้องสีน้ำเงิน ส่วนองค์ระฆังชั้นบนประดับด้วยกระเบื้องสีขาว มีขนาดเล็กลดหลั่นกันไป ต่อจากองค์เจดีย์สีขาว เป็นปล้องไฉน ปลี และปลียอด ตามลำดับ (ไม่มีบัลลังก์ เสาหาน และก้านฉัตร เหมือนเจดีย์ทรงระฆังโดยทั่วไป) รอบองค์ระฆังแต่ละชั้นนอกจากจะต่างสีกั้นแล้ว ที่คอระฆัง และปากระฆังแต่ละองค์ ยังประดับลวดลายดอกแบบไทยๆ ดูงดงามมาก

องค์มหาเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานทรงกระบอก ที่ทำเป็นซุ้มประตูทางเข้า 4 ทิศ แต่ละประตูมีบันไดพญานาคนำเข้าสู่ตัวเจดีย์ และโดยรอบเจาะเป็นช่องหน้าต่างเรียงรายตลอด ส่วนภายในองค์เจดีย์ เป็นโถงขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ โดยแบ่งออกเป็นชั้นๆ คือ

ชั้น 1 มีลักษณะเป็นโถงทรงกลมใหญ่ มีหน้าต่างใสให้ความสว่างรอบทิศ สีภายในชั้นล่างเน้นสีเหลืองทอง ประดับด้วยลวดลายไทยสวยงาม เมื่อต้องแสงไฟยิ่งทำให้ลวดลายดูเรืองรองสวยงามยิ่งขึ้น ตรงกลางมีเสาแกนกลางเจดีย์ และเสารับคานรายล้อมอีก 8 ต้น เสาแต่ละต้นตกแต่งด้วยลวดลายแกะสลักดูอ่อนช้อยสวยงาม เสาแกนกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางยืน 5 องค์ เปรียบได้กับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์* ประทับยืนหันหน้าออกจากเสา ทุกองค์มีพุทธลักษณะกำลังก้าวย่าง มีพระพุทธรูปหนึ่งองค์ที่มีพุทธลักษณะแตกต่างจากองค์อื่นคือ มีสีพระวรกายเป็นสีเทา พระหัตถ์ขวาอุ้มบาตร ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขี้นระดับอก ห้องโถงชั้นล่างนี้ มีหน้าต่างโดยรอบ เหนือกรอบหน้าต่าง เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน ที่เขียนถึงเรื่องเล่าของชาววาโยนาคนคร** จากโถงชั้นล่าง มีบันไดเวียนสำหรับขึ้นไปยังชั้นกลาง และชั้นบน เป็นบันไดเหล็กที่ค่อนข้างแคบและชัน (อาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ)

* พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ที่กล่าวถึง ได้แก่ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า (องค์ปัจจุบัน) และพระอริยเมตตรัยพุทธเจ้า (เป็นองค์ในอนาคตที่ยังไม่ปรากฏ)

** ภาพประวัติเรื่องเล่าชาววาโย เป็นภาพเล่าเรื่องราวในช่วงสงครามระหว่างไทยกับขอม ขณะที่ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบขอม เจ้าขุนมูลนายท่านหนึ่งจึงได้พาไพร่พลหลบหนีออกมา ในระหว่างนั้นเอง ท่านได้เกิดนิมิตรขึ้นว่า มีเทวดาบอกให้ตั้งรกรากใหม่ที่ตรงนี้ ซึ่งเคยเป็นเมืองพญานาค จะทำให้บ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต่อมาท่านได้สร้างเมืองวาโย จนกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก การค้าขายรุ่งเรือง ผู้คนผาสุข รักในศาสนา และตั้งอยู่ในศีลธรรม

เจ้าเมืองวาโยมีลูกสาว 3 คน ลูกสาวสองคนแรกได้ออกเรือนพร้อมกันไปแล้ว พอถึงลูกสาวคนสุดท้อง กลับได้ลูกเขยที่มีนิสัยชอบเล่นการพนัน กินเหล้าเมายา จนเชื่อกันว่าการที่มีลูกเขยที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรมนั้น มีส่วนทำให้เมืองเกิดอาเพท เกิดภัยพิบัติผู้คนล้มตาย ทำการค้าใดก็ไม่เจริญ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีเทวดาได้มาเข้าฝันสองตายาย ผู้ที่อยู่ในศีลธรรม มีจิตใจเมตตา เคารพในศาสนา เทวดากล่าวว่าให้สร้างวัดขึ้น เพื่อให้ชาววาโย ได้กลับมาเพื่อนำความเจริญให้กลับคืนมาอีกครั้ง

ชั้น 2 เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 2 มีลักษณะเป็นโถงขนาดกลาง เสาแต่ละต้นประดับกระเบื้องสีน้ำเงิน ที่เสากลาง และคานรับเสา ยังคงประดับด้วยลวดลายอ่อนช้อย ชั้นนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย ทั้งโดยรอบเสาแกนกลาง และริมผนังด้านข้าง ชั้นนี้ยังมีหน้าต่างกระจกใสโดยรอบสูงจากพื้นขึ้นมา สามารถมองเห็นวิวอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงได้

ชั้น 3 เป็นชั้นบนสุดของพระมหาเจดีย์ ชั้นนี้จะเปิดให้ขึ้นไปชมได้เฉพาะในวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น ชั้นบนนี้เน้นโทนสีขาว ตัดกับลวดลายประดับ และองค์พระสีทอง เป็นชั้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย และยังมีหน้าต่างสูงจากพื้นโดยรอบ ได้เห็นทัศนียภาพอ่างเก็บน้ำลาดกระทิงในมุมกว้าง

หลวงพ่อใหญ่ประทานพร

หลวงพ่อใหญ่ประทานพร เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรขนาดใหญ่ สร้างในปี พ.ศ.2535 - 2537 องค์พระหน้าตักกว้าง 20 เมตร มีความสูง 29 เมตร ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท หลวงพ่อใหญ่ประทานพร ตั้งบนฐานไพทีที่ทำเป็นห้องโถงชั้นล่าง มีลักษณะเหมือนใต้ถุนอาคาร ชั้นบนเป็นองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง การขึ้นไปกราบสักการะจะขึ้นทางบันไดด้านหน้า ที่ตั้งอยู่นอกอาคาร

อนุสาวรีย์สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า

อนุสาวรีย์สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า ตั้งอยู่ด้านหน้าของหลวงพ่อใหญ่ประทานพร เชื่อกันว่า สมเด็จพ่อแสนคำฟ้าเป็นผู้สร้างเมืองวาโยนครในอดีต ดูแลไพร่ฟ้าประชาชนให้มีความสุขสมบูรณ์กันถ้วนหน้า ต่อมาเมืองวาโยนาคนครได้ถึงกาลสลายลงด้วยภัยธรรมชาติ สมเด็จพ่อแสนคำฟ้า ได้ให้ลูกหลานสร้างเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยเริ่มสร้างจากวัดพระธาตุวาโย และขยายไปเรื่อยๆ ลูกหลานวาโยจึงพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์นี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อกราบระลึกถึงพระคุณของท่าน

หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย



หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่กับวัดห้วยน้ำทรัพย์มาตั้งแต่มีการสร้างวัดในปี พ.ศ.2528 โดยไม่ได้มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด หลวงพ่อปลดหนี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่นอกอาคารวิหาร ภายใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์ใหญ่ ทางด้านหลังพระมหาเจดีย์ มีผู้คนศรัทธา มากราบไหว้ ปิดทอง และขอพร ให้ช่วยเรื่องการปลดหนี้กันมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจการค้าขาย มักจะขอให้ทำมาหากินได้คล่องตัว ไม่ขัดข้อง หลวงพ่อปลดหนี้ วัดพระธาตุวาโย

พระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์ สร้างในช่วงปี พ.ศ.2539 - 2541 มีความยาว 20 เมตร ประดิษฐานอยู่ภายในศาลา เป็นพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) ตั้งอยู่บนฐานไพทีที่มีลวดลายพระพุทธรูปโดยรอบ ใต้ฐานองค์พระบรรจุอัฐิคุณแม่สุจิตรา พานทอง ผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัด

อ่างเก็บน้ำลาดกระทิง

เป็นอ่างเก็บน้ำในโครงการสืบเนื่องมาจากพระราชดำริของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้สำหรับการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดไม่ใหญ่มากนัก ด้านสันเขื่อนมีความกว้าง 6 เมตร ยาว 495 เมตร เขื่อนสูง 10.50 เมตร นอกจากเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว ยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สามารถเดินเล่น รับลม ชมวิวทิวทัศน์

วัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพมหานคร

     ในบรรดาแม่ชีผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้รับการยอมรับว่า ท่านมีจิตอันบริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยเมตตาจนสำเร็จถึงขั้น จตุตถฌาน หรือ ฌาน4 ก็คือท่านแม่ชีบุญเรือน โตงบุญเติม ซึ่งนอกเหนือจากการสำเร็จในฌาน ทั้ง 4 แล้ว แม่ชีบุญเรือน ท่านยังได้เพียรพยายามฝึกจิต และสมาธิอย่างแรงกล้า ทั้งได้ประกอบการบุญอันเป็นอานิสงส์แห่งชีวิตอย่างสูงส่ง จนท่านสำเร็จในอภิญญา 6 กล่าวคือ

1.อิทธิวิธี คือแสดงฤทธิ์ได้ ปรากฏว่าแม่ชีบุญเรือนได้กระทำมาแล้วหลายวิธี เช่น อธิษฐานต้นมะม่วงต้นเล็กๆ ให้ออกดอกได้ภายในคืนเดียว เดินกลางฝนไม่เปียก เรียกฝนให้ตกได้ ขอให้ฝนหยุดตกได้ ฯลฯ

2. ทิพโสต หรือที่เรียกว่าหูทิพย์ แม่ชีบุญเรือนสามารถบอกเล่าเรื่องราวที่คนอยู่ไกลๆ พูดกัน ให้คนใกล้ชิดท่านฟังได้อย่างถูกต้อง ฯลฯ

3. เจโตปริยญาณ อันได้แก่การกำหนดจิตให้แก่ผู้อื่น ในเวลาที่แม่ชีบุญเรือนสนทนากับใคร ไม่ว่าใครจะคิดหรือจะพูดอะไรกับแม่ชี ท่านก็สามารถทราบได้ด้วยฌานวิเศษของท่าน ฯลฯ

4. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้แก่การระลึกชาติได้ แม่ชีบุญเรือนได้เคยเล่าเรื่องราว ชาติภพก่อน ให้ลูกๆ และคณะศิษย์ ได้ฟัง รวม 3 ชาติ แม้ว่าเรื่องระลึกชาติ เป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก แต่แม่ชีบุญเรือนเป็นผู้ยึดมั่น

ในศีล 5 ก็ทำให้เชื่ออย่างมั่นคงว่าสิ่งที่ท่านพูดนั้นเป็นความจริง

5. ทิพจักษุ หรือตาทิพย์ การมองเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พึงประสงค์ แม้ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ห่างไกล ต่างบ้านต่างเมืองก็ตาม แต่เรื่องตาทิพย์นี้ ท่านได้เคยบอกเล่าให้คณะศิษย์ฟัง ฯลฯ

6. อาสวักขยญาณ คือ ทำให้พ้นจากทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ท่านได้สำเร็จในข้อนี้ ผู้ที่เดินทางมาหาท่านไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จะยากดีมีหรือจน ก็จะได้รับความเมตตาเท่าเทียมกัน

     จากการที่ท่านได้อภิญญาทั้งหมด ทำให้แรงอธิษฐานธรรมประจุพระพุทธรูป และพระเครื่องสำคัญ รวมไปถึงสิ่งของต่างๆ มีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างมาก รวมไปถึงพระเครื่องชุดสำคัญ คือ พระพุทโธองค์ใหญ่ ซึ่งได้จัดทำพิธีหล่อสร้างที่วัดสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2496 แล้วสมโภชครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 ถึง 13 มีนาคม 2499 ก่อนจะอัญเชิญไปวัดสารนารถธรรมาราม อ.แกลง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2499 และประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดสารนาถธรรมารามจนถึงปัจจุบัน ท่านอธิษฐานจิตให้ตลอดการดำเนินงาน


หลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวด (หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ, หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด, สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์) [1] เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทยจากตำนานท้องถิ่นซึ่งยังไม่ปรากฏหลักฐานในทางประวัติศาสตร์ยืนยันความมีอยู่จริง ประวัติที่พิมพ์เผยแพร่กล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ศรัทธาในหลวงปู่ทวดเชื่อกันว่าพระเครื่องที่สร้างเนื่องด้วยท่านจะมีอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองผู้มีพระเครื่องหลวงปู่ทวดในครอบครอง  ปัจจุบันหลวงปู่ทวดถือได้ว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ในตำนานที่มีผู้ศรัทธาจำนวนมาก รูปสำคัญ 1 ใน 2 มหาเกจิอาจารย์ของเมืองไทย คู่กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (หลวงปู่โต) ที่มีตัวตนจริง

เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นกับท่านเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อนาเปล ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหนอิ นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่วัดพะโคะ เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม




เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ.ศ. 2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัดเพื่อเล่าเรียนหนังสือ ที่วัดกุฎ๊หลวงหรือวัดดีหลวงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านท่าน ขณะนั้นมีท่านสมภารจวง ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป

ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่ามูลบทบรรพกิจ ปัจบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับสมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่ส่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ให้มาครองเป็นเจ้าอาวาสวัดสีคูยังหรือวัดสีหยังในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านได้เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น

โดยมาพำนักอยู่ที่วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมีสมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญามาก และได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากสมเด็จพระเอกาทศรศในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ สุดท้ายเมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน ต่อมาท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่าเมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ต่อไปสถานที่ข้างหน้าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้คนมาเที่ยว


ไอ้ไข่

ความเชื่อและความศรัทธาในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคในประเทศไทยนั้นมีมากมายหลายแบบแตกต่างกันไป ซึ่งความเชื่อและความศรัทธาล้วนแล้ว แต่มีประวัติความเป็นมาแทบทั้งสิ้น ดังเช่น วัดเจดีย์ไอ้ไข่ อำเภอ สิชล จังหวัด นครศรีธรรมราช จากเรื่องราวเสียงที่ร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรก็ได้สมหวังทุกอย่าง รูปไม้แกะสลักของเด็กชายอายุประมาณ 9 -10 ขวบ ตั้งอยู่ในศาลาในวัดเจดีย์ ที่เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่ ณ วัดแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตั้งแต่ในละแวกใกล้วัดไปจนถึงต่างจังหวัดในแถบภาคใต้จากศรัทธาที่เชื่อกันว่า “ขอได้ไหว้รับ” โดยเฉพาะโชคลาภ และการค้าขาย

วัดเจดีย์ก็ไม่แตกต่างกับวัดทั่ว ๆ ไปในประเทศไทยแต่สิ่งที่แปลก และเป็นที่เคารพศรัทธา นับถือ ของชาวบ้านในละแวกนั้นและผู้คนทั่วสาระทิศ คือ ไอ้ไข่ มีการเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า สถานที่ตั้งวัดเจดีย์ปัจจุบันนั้นเมื่อก่อนได้มี หลวงปู่ทวดซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ดังสายปักษ์ใต้ได้มาปักกลด เดินธุดงค์อยู่บริเวณนั้น ส่วนไอ้ไข่นั้นเป็นวิญญาณเด็กอายุประมาณ 9 – 10 ขวบเป็นลูกศิษย์ซึ่งติดตามหลวงปู่ทวด

เมื่อหลวงปู่ทวดมาถึงสถานที่ดังกล่าวกลับพบว่ามีทรัพย์สมบัติ และ ศาสนสถานที่สำคัญเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ให้ ไอ้ไข่ สิงสถิตเฝ้าทรัพย์สมบัติดังกล่าว วิญญาณดวงนี้จึงเฝ้าดูแลปกปักษ์รักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน อยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา และหมู่บ้านนั้นภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “หมู่บ้านโพธิ์เสด็จ” จวบเท่าปัจจุบัน วัดเจดีย์เมื่อก่อนเป็นวัดที่รกร้างมาประมาณ 1,000 ปี แล้ว ได้บูรณะใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งที่ ที่กำลังก่อสร้างอุโบสถอยู่นั้นเมื่อก่อนเป็นเจดีย์รกร้างชาวบ้านไม่กล้าเข้าไป  หลังจากปี พ.ศ. 2500 ผู้ใดที่เข้ามานอนพักข้างแรมภายในบริเวณวัดเจดีย์ถ้าไม่เอ่ยชื่อ หรือบอกล่าว หรือขอขมาต่อไอ้ไข่แล้ว จะนอนไม่ได้ มีการก่อกวนทั้งคืน เช่น เมื่อทำท่าจะหลับจะมีเด็กเอามือมาตีศรีษะบ้าง ดึงขา ดึงแขนบ้าง ก่อกวน ตามประสาแบบเด็ก ๆ ทั้งคืน

ประวัติของ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ หรือ ตาไข่ วัดเจดีย์ ทำไมถึงเรียกชื่อแตกต่างกัน? ได้รับคำตอบว่าเมื่อพิจารณาอายุของไอ้ไข่แล้วอายุหลายปีแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าคงไม่เหมาะสมที่ลูกหลาน เด็กรุ่นใหม่จะเรียก “ไอ้ไข่” สมควรเรียก “ตาไข่” ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า คำว่าไอ้ไข่เพิ่งมาเรียกเอาตอนพ่อเที่ยงแกะสลักรูปไม้แล้ว เหตุผลว่า อาจารย์เที่ยงหรือผู้ใหญ่เที่ยงนิมิตว่ามีเด็กไปบอกให้สร้างรูปเมื่อประมาณปี พ.ศ.2523-2524 ในนิมิตเมื่อเห็นเด็กแก้ผ้า เปลือยกายกับพระจีวรสีคล้ำไปยืนให้เห็นในนิมิต และเอ่ยปากว่าแกะรูปเราให้ที เราจะได้มีที่อาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง ตาเที่ยงถามว่าใครหรือนี้ เด็กในนิมิตจึงบอกว่า "เราไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์" ตั้งแต่นั้นมาจึงได้รู้ว่าเด็กวัดนี้ชื่อ ไอ้ไข่

รูปไม้แกะสลักเป็นรูปเด็กอายุประมาณ 9 – 10 ขวบ สวมชุดลายพรางทหารสวมแว่นตาดำ ซึ่งมาจากสิ่งของที่ชาวบ้านที่นับถือศรัทธานำมาถวายแก้บน สังเกตบริเวณปากทางเข้าวัดจะมีรูปปั้นไก่ชนจำนนวนมากวางอยู่บริเวณใกล้กับปากทางเข้าวัดและใกล้ๆกันมีร่องรอยการจุดประทัด เศษชิ้นส่วนของประทัดกองอยู่เป็นเนินสูงและมีผู้คนเข้าออกมาไหว้พระและต่อด้วยไหว้แก้บนกับรูปแกะสลักไอ้ไข่ จุดประทัดกันอยู่เนื่อง ๆ นั้นคงแสดงถึงเหตุผล หรือความเชื่ออะไรบ้างอย่าง แต่วันดีคืนดีแม้ในปัจจุบัน ยังมีคนเห็นเด็กวิ่งเล่นในวัดหรือปรากฎร่างเด็กให้เห็น หรือมีเสียงเด็กให้ได้ยิน หรือปรากฏแก่ผู้ที่มานอนวัดเจดีย์แบบครึ่งหลับครึ่งตื่น

รูปแกะสลักด้วยไม้ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ที่กุฏิ มีคนมากราบไหว้บูชา ขอพร บนบานศาลกล่าวขอให้มีโชคได้ลาภในการเสี่ยงดวงเล่นพนันขันต่อ หรือขอให้ช่วยเรียกคนให้มาซื้อของ หรือให้ทำยอดให้ได้ตามเป้า หรือของหายขอให้ช่วยหา หรือขอให้ช่วยปกป้องภัยนานา แล้วนำสิ่งของมาแก้บนมิได้เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะนักเสี่ยงโชคก็เยอะด้วยเช่นกัน

ในวัดเจดีย์ เต็มไปด้วยสิ่งของที่ผู้เลื่อมใสศรัทธาเอามาแก้บน เช่น รูปไก่ชน ชุดทหาร หนังสติ๊ก ของเล่นต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนบริเวณที่ให้จุดประทัดก็มีเศษประทัดกองสูงเป็นเนินเขาย่อมๆ บ่งบอกถึงแรงศรัทธาที่มีต่อไอ้ไข่ และแสดงถึงผลสัมฤทธิ์จากผู้ที่มาขอแล้วได้รับจากไอ้ไข่ ทุกวันผู้คนต่างหลั่งไหลไปขอพรจากไอ้ไข่

ครั้นถึงวันสงกรานต์ 13 -17 เมษายน ของทุกปีมีการจัดงานบุญ คณะกรรมการวัดนำรูปมาประดิษฐานยังปะรำพิธี ให้คนสรงน้ำพระแล้วอาบน้ำ ไอ้ไข่ ขอพรด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธาใน "ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ : เทพแห่งสามัญชน" สัตย์จะเป็นเรื่องสำคัญมากเท่าที่ประสบ และเจอมาเมื่อบนบานศาลกล่าวอะไร ก็ต้องนำสิ่งของนั้นมาแก้บนด้วย “ขอให้ไหว้รับอย่างแน่นอน” วิญญาณเด็กน้อยดวงนี้เป็นที่พึ่งทางใจของทุกคนที่เลื่อมใส บารมีของเด็กน้อยที่เรียกว่าเป็นเด็กวัด ได้รวบรวมศรัทธาจากมวลชน เป็นวัดเจดีย์ที่สวยงาม มั่นคง ดำรงพระพุทธศาสนาสืบไป

การบูชา ไอ้ไข่ วัดเจดีย์
ธูป 3 ดอก บูชาบนได้ ไหว้รับ
แต่เมื่อสำเร็จให้แก้บนด้วยของที่นำมาบนและจุดธูปเพียง 1 ดอกเท่านั้น

ของที่ชอบ
ขนมเปี๊ยะ
น้ำแดง
ชุดทหาร ตำรวจ
ไก่ปูนปั้น
หนังสติ๊ก
ประทัด
แสดง   10 20 30